วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พื้นฐาน 5 ประการของพุทธนิกายเซน

พื้นฐาน 5 ประการของพุทธนิกายเซน

(1) ความจริงสูงสุดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงได้ด้วยคำพูด ความจริงสูงสุดของเซนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ ดังคำพูดของเซนที่ว่า "การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยคำพูดหรือตัวหนังสือ" ซึ่งก็ตรงกับคำพูดในปรัชญาเต๋าที่ว่า "เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำพูด เต๋าที่เรียกได้ด้วยคำพูดไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง" และ "ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้ไม่พูด" พุทธะอันสูงสุดนั้นคือธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ภายในชีวิตของเรานี้เอง เมื่อคำพูดและความคิดปรุงแต่งหยุดลง ธรรมชาติดังเดิมก็พลันปรากฎ

ดังนั้นเซนจึงมุ่งหวังในเรื่องประสบการณ์ ความตื่นของชีวิตมากกว่าคำพูด ประสบการณ์นี้เรียกว่า "ความว่าง" หรือ "ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ" หรือ ธรรมชาติดั้งเดิม เปรียบเสมือนการดื่มน้ำ ร้อนหรือเย็นรู้ได้โดยไม่ต้องบอก

(2) การฝึกฝนในทางธรรม เป็นสิ่งที่ไม่อาจฝึกได้ (ด้วยความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง) ในความคิดปรุงแต่งใดๆก็ตาม จะมีความรู้สึกที่มีตัวตนประสมอยู่ด้วยเสมอ ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นภายในกับสิ่งที่เป็นภายนอก และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันกับวัตถุภายนอก ความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า การท่องพระสูตร การบูชาพระพุทธรูป การประกอบพิธีต่างๆนั้น โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ตรงข้าม บุคคลควรปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ เฝ้าดูและขจัดกระแสแห่งความคิดปรุงแต่ง และจะต้องเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นเอง การปฎิบัติธรรมที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้

(3) ผลบั้นปลายสุดท้าย ไม่มีอะไรที่ใหม่ ประสบการณ์ของความตื่น ความรู้สึกตัวถึงเอกภาพอันแบ่งแยกมิได้ของสรรพสิ่งทั้งมวล การเห็นแจ้งธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะภายในของตน เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า ได้อะไรมาใหม่ เพียงแต่เป็นการรู้แจ้งบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเองตลอดเวลาเท่านั้น ปัญหามีเพียงว่าที่เราไม่ได้รู้สึกตัวถึงสิ่งนี้เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง ในภาวะของความตื่น เมื่อตัวตนที่ปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ธรรมชาติในส่วนลึกลับอันแอบเร้นลับปรากฎตัวขึ้นแทนที่และผู้กระทำจะกระทำสิ่งต่างๆอย่างปราศจากตัวตนและอย่างเป็นกันเอง

(4) "ไม่มีอะไรมากในคำสอนทางพุทธศาสนา" แท้จริงแล้วนั้น ส่งที่เรียกว่าความคิด ลัทธิ และคำพูด ไม่มีความหมายแต่อย่างใด สิ่งสำคัญที่สุดเพียงประการเดียวคือ ประสบการณ์ของความตื่นเท่านั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาวพุทธ และไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่ยังยึดติดในสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายอยู่ตราบนั้น

(5) ในขณะที่กำลังหาบน้ำ ผ่าฟืน นั่นแหละ เป็นขณะแห่งการสัมผัสกับชีวิตทางธรรม การตรัสรู้นั้นไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบใด ในขณะแห่งการทำงาน ในชีวิตประจำวันก็อาจเป็นขณะแห่งการตรัสรู้ได้ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นสิ่งสากล เราอาจพบมันได้ในทุกหนทุกแห่ง ดังบทเพลงจีนบทหนึ่งที่ว่า

ทันทีที่พระอาทิตย์ขึ้น เราเริ่มต้นทำงาน
ทันทีที่พระอาทิตย์ตกดิน เราพักผ่อน
เราขุดบ่อน้ำ และเราดื่ม
เราไถหว่านบนผืนดิน และเรากิน
อำนาจอะไรของเทพเจ้า จะมาเกี่ยวข้องกับเรา


http://www.geocities.com/Athens/Pantheon/8021/zen-basic.html

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ10 มกราคม 2555 เวลา 14:01

    ทันทีที่พระอาทิตย์ขึ้น เราเริ่มต้นทำงาน
    ทันทีที่พระอาทิตย์ตกดิน เราพักผ่อน
    เราขุดบ่อน้ำ และเราดื่ม
    เราไถหว่านบนผืนดิน และเรากิน
    อำนาจอะไรของเทพเจ้า จะมาเกี่ยวข้องกับเรา


    ชอบโศลกนี้จังเลยค่ะ

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นต้องไม่ว่างเปล่า สิ่งที่ว่างปล่าวคือสิ่งที่ไม่มีความคิดเห็น

    ตอบลบ